ลีกฟุตบอลที่จัดกันขึ้นทั่วโลก หลายครั้งก็มีเป้าหมายคือการชิงความเป็นอันดับหนึ่งของประเทศ แต่ก็มีอีกหลายครั้งที่การแข่งขันฟุตบอลถูกใช้เป็นเครื่องมือในการส่งข้อความหรือรณรงค์ให้เกิดจิตสำนึกสาธารณะต่อเพื่อนมนุษย์ ส่วนรวม และสังคมโลก ดังเช่นการแข่งขันฟุตบอลที่ประเทศโมซัมบิก ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อเซฟชีวิตสัตว์ป่าที่ใกล้จะสูญพันธุ์
แรด เป็นหนึ่งในสัตว์ป่าดึกดำบรรพ์ของโลก ถูกบันทึกว่ามีชีวิตอยู่บนโลกมนุษย์มานานกว่า 50 ล้านปีแล้ว ก่อนแตกสาขาออกมาหลายเผ่าพันธุ์ โดยตั้งแต่ศตวรรษที่ 20 เป็นต้นมา มีการสำรวจพบว่าโลกนี้มีแรดอาศัยอยู่มากมายถึง 5 แสนล้านตัว บริเวณแอฟริกา ซึ่งมีผืนป่าอุดมสมบูรณ์ รวมถึงแผ่นดินเอเชีย ทว่าเป็นเรื่องเศร้าที่ต้องบอกว่าตอนนี้จำนวนแรดที่มีชีวิตอยู่ ลดลงเหลือไม่ถึง 30,000 ตัว
มองกลับมาเวลานี้ยิ่งแสนหดหู่เมื่อมีรายงานบอกว่าโลกนี้สูญเสียแรดตกปีละ 1,000 ตัว แน่นอนว่ามันไม่ได้ล้มหายตายจากตามอายุขัย แต่เพราะถูกล่าโดยนายพรานเจ้าถิ่นและเหล่ามหาเศรษฐีที่ชื่นชอบการล่าสัตว์ในแถบแอฟริกาใต้ ซึ่งเป้าหมายหลักคือการฆ่าเพื่อเอานอแรดมาทำเป็นเครื่องประดับ หรือทำเป็นยาส่งออกไปทั่วโลก และหากนำไปขายก็มีมูลค่าสูงไม่ต่างจากทอง นายพรานท้องถิ่นก็ต้องการเงินจากนายจ้างเพราะชีวิตผู้คนในแอฟริกาส่วนใหญ่ล้วนยากจน
กลุ่มประเทศแอฟริกาใต้ เห็นตัวเลขของแรดที่ลดลงอย่างน่าใจหายก็ไม่อาจนิ่งนอนใจ และนั่นก็นำมาสู่การจัดตั้งลีกฟุตบอลเพื่อช่วยชีวิตพวกมัน อันมีชื่อเรียกว่า “ไรโน่ คัพ” (Rhino Cup)
รูปแบบของ ไรโน่ คัพ ก็เหมือนลีกฟุตบอลระดับมาตรฐานทั่วไป แต่อยู่ภายใต้การดูแลของมูลนิธิ ไวลด์ แอนด์ ฟรี ซึ่งรับผิดชอบดูแลงานเกี่ยวกับผืนป่าและสัตว์ต่างๆ โดยจัดการสร้างทีมฟุตบอลทั้งหมด 12 ทีม แข่งแบบพบกันหมด แล้วหาทีมที่มีคะแนนสะสมมากที่สุดเป็นแชมป์ประจำรายการ พร้อมเงินรางวัลจำนวนหนึ่ง เริ่มจัดครั้งแรกที่ประเทศโมซัมบิก และได้รับความสนใจจากชาวบ้านรวมถึงเด็กรุ่นใหม่อย่างมาก
แน่นอนว่าวัตถุประสงค์ของ ไวลด์ แอนด์ ฟรี ในการจัดลีกฟุตบอลนี้คือให้ความรู้เกี่ยวกับ แรด และอธิบายถึงความสำคัญที่ทุกคนในแอฟริกาใต้จำเป็นต้องดูแลรักษาแรดไม่ให้มันสูญพันธุ์ ซึ่งผลการตอบรับก็ค่อนข้างดี โดยเฉพาะเหล่าคนรุ่นใหม่ที่ต้องการหาอะไรทำมากกว่าถือปืนออกไปล่าสัตว์ป่า อันเป็นกิจวัตรเดิมที่ได้รับการปลูกฝังมาจากครอบครัวและต้นตระกูลของแต่ละคน เพื่อหาเงินเลี้ยงชีพ
การแข่งขัน ไรโน่ คัพ ครั้งแรกในเดือนเมษายน-กันยายน ปี 2018 ประสบความสำเร็จอย่างดีเมื่อมีเด็กหนุ่มในโมซัมบิกหลายคน หันมาจับกลุ่มเตะฟุตบอลกัน ขณะที่ชาวบ้านทั้งผู้ใหญ่และเด็กๆ ก็ติดตามชมการแข่งขัน ดูลูกหลานของตัวเองแสดงฝีเท้าในสนาม แถมยังเป็นการสร้างงานสร้างอาชีพเพราะนอกจากจะได้เงินจากการเตะฟุตบอลเหมือนนักเตะอาชีพทั่วไป ชาวบ้านก็ถือโอกาสนำสินค้าของตัวเองมาขายสร้างรายได้อีกทาง
ความสำเร็จของการจัด ไรโน่ คัพ ที่โมซัมบิก ทำให้กลุ่มประเทศในแอฟริกา เริ่มให้ความสนใจและเจรจากับทีม ไวลด์ แอนด์ ฟรี เพื่อขอจัดทัวร์นาเมนต์ในประเทศตนเองบ้าง ขณะที่ โมซัมบิก ก็เดินหน้าที่จะสร้างลีกฟุตบอลหญิงล้วนภายใต้โครงการนี้เช่นกัน ซึ่งการผลักดันนี้เดินหน้าไปอย่างรวดเร็วก็เพราะความสนใจจากคนหนุ่มคนสาว ที่เบี่อหน่ายกับการใช้ชีวิตแบบเดิมๆ ถืออาวุธออกล่าสัตว์ทุกสัปดาห์
ปัญหาการล่าแรดในพื้นที่ แน่นอนว่าเจ้าหน้าที่ประจำอุทยานเขตต่างๆ มีหน้าที่เข้าห้ามปราม แต่ด้วยอิทธิพลของเงินตราทำให้ปัญหาเหล่านี้ไม่เคยได้รับการแก้ไขอย่างถูกต้อง หลายครอบครัวจำต้องจับปืนถือมีดเพื่อล่าสัตว์แลกเงินมาดูแลลูกเมียและคนที่บ้าน แต่ด้วยวันเวลาที่ผ่านไป คนหนุ่มสาวยุคใหม่ที่ได้ศึกษาความรู้มากมายจากโลกกว้าง ทำให้พวกเขาตระหนักถึงความสำคัญต่อการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม
แม้ปัจจุบันปัญหาการล่าสัตว์ป่าตามทวีปแอฟริกาจะยังไม่หมดสิ้นลง เพราะยังมีสัตว์ป่าอีกมากที่ถูกคมกระสุนและใบมีดคร่าชีวิตเกิดขึ้นทุกวัน แต่ ไรโน่ คัพ ก็เปรียบเสมือนสัญญาณที่ปลุกกระตุ้นให้มนุษย์ทุกคนต้องจงไตร่ตรองและให้ความสำคัญต่อชีวิตสัตว์ป่า รวมถึงการอยู่ร่วมกันภายใต้โลกและธรรมชาติแบบเดียวกัน
"สูญพันธุ์" - Google News
June 19, 2020 at 02:14PM
https://ift.tt/37GpkU4
ลีกฟุตบอลเพื่อ “แรด” อย่าปล่อยให้สูญพันธุ์ - ผู้จัดการออนไลน์
"สูญพันธุ์" - Google News
https://ift.tt/2U2TUlm
No comments:
Post a Comment