จากการพบเห็น ‘นางอาย’ โดยบังเอิญ สู่แนวทางการอนุรักษ์สิ่งมีชีวิตทุกชนิดในพื้นที่ การรักษาธรรมชาติให้อุดมสมบูรณ์ทำให้สรรพสัตว์เลือกเองแล้วว่า “ฉันจะอยู่ที่นี่”
ดวงตากลมโตกระทบแสงไฟ สร้างความประหลาดใจจากคนที่พบเห็น ถ้าหากเหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นในผืนป่าคงไม่ถึงกับน่าตื่นเต้น แต่การพบเห็น นางอาย หรือ ลิงลม ครั้งนี้เกิดขึ้นภายในรีสอร์ทริมทะเลเขาหลัก จังหวัดพังงา สถานที่ที่หลายคนต่างคิดว่าต้องเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิประเทศและทำลายสิ่งแวดล้อมเพื่อรองรับนักท่องเที่ยว
- นางอายในโรงแรม
“มีแขกบางคนเห็นนางอาย แล้วมาเล่าให้ทางโรงแรมฟัง พนักงานของเราก็บอกว่าผมเห็นอยู่เป็นประจำตามต้นนั้นตามต้นนู้น ก็เลยมั่นใจว่านางอายอาศัยอยู่ในโรงแรมเราจริงๆ” คำบอกเล่าจากปาก ชานน วงศ์สัตยนนท์ ผู้บริหาร เขาหลัก เมอร์ลิน รีสอร์ท ยืนยันถึงการพบเห็นสัตว์ป่าตาโตที่เพิ่งขึ้นทะเบียนเป็นสัตว์ป่าใกล้สูญพันธุ์ชนิดนี้ภายในรีสอร์ทของเขา
ซึ่งถ้าเทียบเคียงกับข้อมูลที่ว่า...นางอายเป็นสัตว์ตระกูลวานรที่ไม่มีหาง อาศัยอยู่บนต้นไม้ ปีนป่ายตามกิ่งไม้อย่างเชื่องช้า แต่เมื่อมีลมพัดแรงจะเคลื่อนที่ได้เร็วขึ้น และจับแมลงได้อย่างรวดเร็ว อาหารหลักคือแมลง นก สัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมขนาดเล็ก สัตว์เลื้อยคลาน ผลไม้ น้ำหวาน และเกสรดอกไม้
นางอายออกหากินเวลากลางคืน ตอนกลางวันจะหลับตามง่ามไม้ หากินโดยลำพัง บางครั้งอาจพบเป็นคู่หรือเป็นครอบครัว พบได้ในผืนป่าแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทำให้นางอายกับรีสอร์ทริมทะเลดูเป็นเส้นขนาน ทว่าในกรณีนี้กลับมาบรรจบกัน
การพบเห็นนางอายที่รีสอร์ทเริ่มขึ้นเมื่อประมาณ 2 ปีก่อน โดยที่ยังไม่มีข้อมูลแน่ชัดว่านางอายจะมาปรากฏตัวหรืออาศัยที่นี่ในช่วงใดเป็นพิเศษ ชานนเล่าว่าในช่วงที่รีสอร์ทปิดโควิด-19 ดูคล้ายว่าจะพบเห็นนางอายได้ง่ายกว่าปกติ คาดว่าเพราะไม่ค่อยมีคนและธรรมชาติถูกรบกวนน้อย แต่ยังยืนยันไม่ได้ เพราะเขายังบอกด้วยว่าอาจขึ้นอยู่กับแหล่งอาหารซึ่งช่วงนั้นตรงกับฤดูกาลผลไม้พอดี
“เห็นว่านางอายเคลื่อนไหวช้าๆ แต่มันเดินทางเยอะมาก คืนหนึ่งมันเดินทางได้เป็นกิโลเมตรเพื่อตามหาอาหารของมัน ผมก็ไม่มั่นใจว่าจะเห็นได้มากน้อยแค่ไหน แต่ในช่วงโควิด-19 อาจจะจริงและตรงกับช่วงผลไม้เยอะ ช่วงนั้นเราจึงเห็นกันบ่อยมาก แต่มีข้อมูลที่น่าสนใจคือนางอายอยู่บนต้นไม้สูงอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นจึงไม่ได้สนใจคนสักเท่าไร”
แม้ว่าภายในรีสอร์ทจะปกคลุมด้วยต้นไม้นานาพันธุ์ และหลายชนิดน่าจะเป็นอาหารของนางอาย แต่ด้วยความที่นางอายกินอาหารหลากหลายมาก ทางรีสอร์ทจึงพยายามปลูกพืชทั้งผลไม้ทั้งดอกไม้ เพื่อเป็นแหล่งอาหารให้นางอายได้หากินตามธรรมชาติ โดยไม่ใช่การเลี้ยงแต่สร้างแหล่งอาหารให้อุดมสมบูรณ์เพียงพอกับนางอายรวมถึงสัตว์อื่นๆ ด้วย
“เรายังไม่แน่ใจว่านางอายที่พบในโรงแรมอาศัยอยู่ในนี้หรือเปล่า หรือมาจากที่ไหน เพราะธรรมชาติของมันเดินทางได้หลายกิโลเมตรเพื่อหากิน มันอาจจะอยู่อาศัยที่นี่หากินที่นี่เลยก็ได้ หรือมันอาจจะมาจากที่อื่นเพื่อหากินอย่างเดียวก็ได้ แต่ถ้าดูจากสภาพภูมิประเทศ บริเวณรอบๆ ไม่มีป่า กว่าจะถึงอุทยานก็น่าจะเดินทางมาลำบากเพราะมันเดินทางบนต้นไม้ จริงๆ ถ้าจะดูว่านางอายเดินมาได้ไหม ต้องดูว่าต้นไม้อยู่ติดกันไหม ซึ่งนางอายมันก็อาจไต่ตามสายไฟได้ แต่มันมีโอกาสโดนไฟดูดสูง”
- Save ก่อนสาย
ถึง "นางอาย" จะอยู่ในพื้นที่ของรีสอร์ท และรีสอร์ทพยายามหาทางให้นางอายดำรงชีวิตได้อย่างปลอดภัย แต่ชานนก็ยอมรับว่าที่ผ่านมาคือการอยู่ร่วมกันอย่างบ้านๆ โดยไม่มีองค์ความรู้เกี่ยวกับสัตว์ป่าหรือทรัพยากรธรรมชาติอย่างเป็นจริงเป็นจัง จึงต้องหาแนวร่วมจนกระทั่งได้ทั้ง Love Wildlife และ Big Trees มาช่วยกัน
“เราแค่อยู่กับธรรมชาติ เราแค่อยู่กับมันไป แต่เราไม่รู้ว่ามันอยู่อย่างยกลำบากหรือเปล่า ความเป็นอยู่ของสัตว์ต่างๆ เป็นอย่างไร เราจึงพยายามปลูกต้นไม้และผลไม้ให้ได้มากที่สุด แต่ก็ไม่รู้ว่าเป็นชนิดที่มันกินหรือเปล่า หรือพวกโพรงต่างๆ ตามต้นไม้ในโรงแรมจะเพียงพอไหม เราต้องสร้างบ้านนกอะไรเพิ่มไหม ทั้งหมดนี้เราต้องพึ่งพาองค์ความรู้จาก Love Wildlife ที่จะรักษาระบบนิเวศเอาไว้ ซึ่งเขายินดีช่วย”
Nancy Lynne Gibson ประธานมูลนิธิ Love Wildlife Foundation เปิดเผยถึงสถานการณ์ของนางอายว่ายังไม่มีข้อมูลในประเทศไทยที่ชัดเจน เพราะยังค่อนข้างขาดงานวิจัยด้านนี้ เท่าที่มีส่วนมากไม่ต่อเนื่อง อาทิ เป็นโปรเจคของนักเรียนนักศึกษาที่ทำเสร็จแล้วก็หายไป ข้อมูลต่างๆ ที่นำมาประกอบการทำงานจึงเป็นงานวิจัยจากต่างประเทศ ทั้งจากอินโดนีเซีย มาเลเซีย เวียดนาม โดยมีทีมผู้เชี่ยวชาญจากประเทศต่างๆ เช่น อังกฤษ อินโดนีเซีย อินเดีย ฯลฯ
“เราสนใจเรื่องนางอายตั้งแต่ก่อตั้งมูลนิธิ เพราะเราเคยฝึกงานอยู่ที่เขาดิน แล้วมีคนเอานางอายมาทิ้งที่เขาดิน บอกว่าเจอแถวบ้าน แต่พอสัตวแพทย์ตรวจสอบก็รู้ว่าเป็นนางอายที่คนนำไปเลี้ยง เพราะถูกตัดเขี้ยว ก็อาจเป็นที่เขาเลี้ยงเองหรือคนอื่นเลี้ยงแล้วเขาไปเจอมาจริงๆ ก็ได้ ซึ่งมีแบบนี้บ่อยมาก ตอนนั้นพยายามศึกษาเกี่ยวกับนางอาย และพบว่าในประเทศไทยยังมีสัตว์อีกหลายชนิดที่คนยังไม่วิจัยและศึกษา
นางอายเป็นโลโก้ของมูลนิธิ ทางคุณชานนเขาเลยถามว่าใช่ตัวเดียวกันหรือเปล่า ก็ยังไม่แน่ใจว่าใช่ที่พบที่นี่หรือเปล่า ก็เลยมาสำรวจ เพื่อให้คนในรีสอร์ทได้เรียนรู้ด้วยกัน มาครั้งที่สามกว่าจะเจอ เพราะไม่ได้เจอง่ายๆ”
ยิ่งไปกว่าความน่าสงสารและข้อมูลอันน้อยนิด ประธานมูลนิธิ Love Wildlife บอกว่าการอนุรักษ์นางอายอาจสร้างความยั่งยืนได้มากกว่าตัวนางอายเอง เพราะนางอายเป็นสัตว์ที่ช่วยผสมเกสรโดยบังเอิญ
“เพราะนางอายกินผลไม้ กินน้ำหวานจากดอกไม้ กินเกสรดอกไม้ เขาจะมีเกสรมาติดตามตัวเขา จึงมีการนำเกสรไปผสมในที่ต่างๆ ที่เขาไป ซึ่งถ้าพูดถึงความหลากหลายทางชีวภาพ สัตว์หลายชนิดถ้าหายไปจะเกิดผลกระทบต่อสิ่งอื่น ยกตัวอย่างนกโดโด้ ที่สูญพันธุ์ไปเมื่อ 300 ปีที่แล้ว ตอนที่มันสูญพันธุ์ไปทุกคนก็ไม่คิดว่ามันเกิดอะไรขึ้น แต่ 3 ปีถัดมา พบว่ามีต้นไม้บางชนิดเริ่มสูญหาย เพราะเมล็ดของของต้นนี้จะมีเพียงนกโดโด้เท่านั้นที่กิน แล้วขับถ่ายออกมาขยายพันธุ์ต่อไป ต้นไม้ชนิดนี้จึงเริ่มสูญพันธุ์ ทุกอย่างมีการเชื่อมโยงซึ่งกันและกัน ถ้านางอายยังเข้ามาใช้พื้นที่นี้ได้ แสดงว่าพื้นที่นี้ยังอุดมสมบูรณ์”
ทั้งนี้ตั้งแต่พบจนเกิดการเพิ่มแหล่งอาหารตามธรรมชาติรวมถึงการติดตามศึกษาพฤติกรรม ชานนย้ำว่าไม่ใช่การเลี้ยง เพียงต้องการอนุรักษ์นางอายให้อยู่ได้ในป่าผืนเล็กๆ ผืนนี้
“เราไม่เลี้ยงสัตว์ป่า โดยเฉพาะนางอาย เพราะเราไม่ต้องการให้คนกับนางอายมีปฏิสัมพันธ์กันมากเกินไปซึ่งมันส่งผลต่อสัญชาติญาณสัตว์ป่า และถ้าเกิดมีคนเอาอาหารไปยื่นให้ วันดีคืนดีมันกัดคนขึ้นมาก็จะเป็นปัญหาใหญ่อีก”
- ปริศนา...ตาใส
นอกจากนางอายจะเป็นสัตว์ที่ออกหากินเวลากลางคืน ภายใต้ความมืดคือปริศนาเกี่ยวกับนางอายที่ยังต้องศึกษาหาคำตอบ การร่วมมือกันระหว่างรีสอร์ทและมูลนิธิ ไม่เพียงแต่เป็นการขอความช่วยเหลือด้านองค์ความรู้ แต่ในมุมของมูลนิธิด้านสัตว์ป่า นี่คือโอกาสที่จะศึกษาชีวิตของสัตว์ปริศนาตัวนี้
การที่ Love Wildlife เข้ามาเป็นพาร์ทเนอร์ส่วนหนึ่งเพื่อให้รีสอร์ทช่วยติดตามพฤติกรรมนางอาย โดยมีทีมงานคือพนักงานโรงแรมทุกคน ซึ่งส่วนมากเคยเห็นนางอายตามต้นไม้ต่างๆ ในเวลากลางคืน แต่เพิ่มขั้นตอน Tracking พฤติกรรมนางอาย
Nancy Lynne Gibson กล่าวถึงเรื่องการ Tracking ด้วยอุปกรณ์ Tag พิเศษซึ่งทำขึ้นมาเพื่อโครงการนี้โดยเฉพาะว่า เป็นแผ่นกระดาษเคลือบพลาสติก มีช่องใส่ข้อมูลต่างๆ อาทิ วัน เวลาที่พบเห็นนางอาย ลักษณะพฤติกรรมของนางอายขณะนั้น หรือแม้กระทั่งอุณหภูมิและสภาพอากาศ
“เราให้เขาระบุข้อมูลทุกอย่างลงใน Tag ทั้งตำแหน่งต้นไม้ที่เจอ ต้นไม้นั้นมีผลหรือมีดอกไหม เราเก็บข้อมูลอย่างละเอียด ทำเสร็จแล้วให้ติดไว้ที่ต้นไม้ต้นนั้น พอทีมงานของมูลนิธิกลับมาศึกษาอีกครั้งก็จะเก็บ Tag พวกนี้มาเป็นข้อมูล และมาร์ค GPS ของต้นไม้ไว้
ซึ่ง Tag นี้เราให้เขาใช้ปากกาเคมีแบบ Permanent เขียน เพราะกันน้ำ แต่พอเก็บข้อมูลเสร็จเราก็ใช้แอลกอฮอล์เช็ดลบออกได้ นำมาใช้ใหม่ได้เรื่อยๆ เป็นวิธีสังเกตพฤติกรรมที่เราประยุกต์ขึ้นมาเอง เพราะปกติถ้าเราจะสังเกตพฤติกรรมสัตว์ป่า จะต้องนั่งดู เก็บทุก 15 นาที แต่นี่เราแค่ต้องการรู้ว่าเขาอยู่จุดไหนบ้างและต้นไม้อะไร”
“การ Tracking พฤติกรรมนางอายตามต้นไม้จะทำไปเรื่อยๆ ครับ เพราะจะได้รู้ด้วยว่าพฤติกรรมของมันหรือการขยายพันธุ์เป็นอย่างไร มีลูกเพิ่มไหม มีนางอายกี่ตัวในรีสอร์ท เพราะตอนนี้เราก็ไม่รู้ ว่ามันมีกี่ตัวกันแน่ในบริเวณโรงแรม
และจะสังเกตกันได้ว่า บริเวณป่ารอบๆ เขาหลัก เมอร์ลิน มีลดลงทุกวัน เพราะมีร้านค้าโผล่ขึ้นมาเรื่อยๆ มีโรงแรมอื่นโผล่ขึ้นมาเรื่อยๆ หรือถ้าไม่ใช่ร้านค้าหรือโรงแรมก็จะเป็นสวนปาล์ม บริเวณต้นไม้ที่นางอายอาศัยอยู่ได้ก็จะน้อยลงเรื่อยๆ ทางคุณ Nancy จึงแนะนำให้โยงเชือกจากข้างนอกเข้ามาสู่โรงแรมเพื่อให้นางอายสัญจรได้ เพราะนางอายไม่ค่อยเดินบนพื้นดิน และถ้ามันลงมาก็อาจโดนรถชนหรือโดนจับไปเป็นสัตว์เลี้ยงผิดกฎหมายก็ได้”
การที่สัตว์ป่าหายากอย่างนางอายมาปรากฏตัวในรีสอร์ท หากมองเป็นจุดขายก็ใช่ แต่ถ้าผู้ประกอบการจะมองข้ามไปแล้วเดินหน้าธุรกิจแบบเต็มขั้นก็ไม่แปลก ทว่าพันธกิจพิเศษเรื่องการอนุรักษ์นางอายนั้นสำคัญกว่าผลกำไร ชานนอธิบายให้เห็นภาพว่านางอายเป็นสัตว์ที่น่าสงสารทั้งพฤติกรรมที่เชื่องช้า รวมถึงความเชื่อของพรานป่าที่ว่าหากเจอนางอายจะไม่พบสัตว์ป่าชนิดอื่น มันจึงถูกฆ่าทิ้งด้วยความไม่สมเหตุสมผล และทัศนคติต่อต้นไม้ที่หลายคนคิดว่าเป็นแค่ทรัพยากรที่นำมาใช้ได้ ก็ถือเป็นภัยคุกคามนางอาย
“นางอายเป็นสัตว์ที่เจียมตัวอยู่ตามต้นไม้ การตัดต้นไม้ก็ถือว่าเป็นการบุกรุกพื้นที่ของเขาอยู่แล้ว การที่เรารักษาต้นไม้และให้ความสำคัญกับระบบนิเวศ จะเป็นการอนุรักษ์นางอายได้ดีที่สุด ผู้ประกอบการต่างๆ ก็ควรให้ความสำคัญกับต้นไม้ อย่าคิดว่าเป็นแค่ทรัพยากรอย่างหนึ่ง เพราะในที่สุดถ้าต้นไม้อยู่ ระบบนิเวศและสัตว์ป่าก็ตามมา”
หากมองจากแผนที่ทางอากาศ บริเวณรีสอร์ทแห่งนี้ถูกปกคลุมด้วยต้นไม้ราว 50 เปอร์เซ็นต์ และเรือนยอดไม้ค่อนข้างใกล้กัน จึงเหมาะสมต่อการดำรงชีวิตของนางอาย แต่ที่น่าหวั่นใจ คือพื้นที่สีเขียวแบบนี้ค่อยๆ กลายเป็นคอนกรีตไปเรื่อยๆ หากทุกอย่างเปลี่ยนแปลงต่อไป นี่อาจเป็นเรือนตายของนางอายก็ได้
"สูญพันธุ์" - Google News
August 31, 2020 at 08:30AM
https://ift.tt/3gJ7tPa
'นางอาย' ในโรงแรม ปริศนาบนยอดไม้ที่ใกล้สูญพันธุ์! - กรุงเทพธุรกิจ
"สูญพันธุ์" - Google News
https://ift.tt/2U2TUlm
No comments:
Post a Comment